แม้คนไทยอ่านหนังสือเป็นกันแทบทุกคนแต่พบว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ในปีหนึ่งอ่านกันไม่กี่บรรทัด เมื่ออยากจะเรียนรู้หรือหาคำตอบที่ตนสงสัย แทนที่จะใช้เวลาค้นคว้าหาหนังสือที่มีเรื่องราวถูกต้องมาอ่าน กลับชอบดูทีวีหรือฟังวิทยุ หรืออ่านข้อความสั้นๆบนมือถือที่เขียนส่งกันมาตามภาษาพูด จนทำให้คนไทยรุ่นใหม่เขียนหนังสือเรียบเรียงใจความไม่เป็น มักนำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียน คำพูดใดที่คนชอบใช้กันแล้วตัวเองคิดว่าเท่ก็มักนิยมพูดตามกัน โดยเฉพาะคำว่า จริงๆแล้ว ที่จริงแล้ว อันที่จริง พูดตามตรง หรือข้อเท็จจริง ที่มักยกมาพูดนำคำพูดประโยคอื่น เช่น จริงๆแล้ว ผมได้ทำอะไรต่ออะไรในวันนี้ เป็นต้น

ใครที่พูดคำว่าจริงๆแล้ว ที่จริงแล้ว อันที่จริง หรือพูดตามตรง หมายความว่า จากนี้ไปจะพูดความจริงแล้วนะ เรื่องที่เพิ่งบอกไปเมื่อสักครู่มันไม่ใช่ความจริง(Truth)ทั้งหมดหรอกนะ ดังนั้นถ้านำคำเหล่านี้มาพูดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมแสดงว่าเป็นคนชอบพูดโกหกหรือบอกอะไรๆที่ไม่ชัดเจนอยู่เสมอ จึงควรเลิกใช้คำเหล่านี้ดีกว่าหรือเปลี่ยนไปใช้คำอื่นแทน เช่น ตามที่พบเห็นมา ตามที่ได้ยินมา ตามเนื้อหา ตามหลักการว่าอย่างไร จะเหมาะสมกว่า

ส่วนคำว่าข้อเท็จจริง(Fact) มักถูกใช้เพื่อหลอกให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นความจริงหรือพูดเลี่ยงว่าตนไม่ได้โกหกหรอกนะ เพราะคำว่าข้อเท็จจริงแสดงว่ามีทั้งเท็จทั้งจริงปะปนกันอยู่ คนที่ชอบใช้คำว่าข้อเท็จจริงต้องอธิบายต่อให้ชัดเจนว่าอะไรคือเท็จอะไรคือจริงด้วย

ความจริงความเท็จในตารางฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ตารางฐานข้อมูลต้องมีเฉพาะข้อมูลที่เป็นความจริงเท่านั้นทั้งตัวข้อมูล ช่องว่าง สถานะของข้อมูล ลำดับรายการ ความมีอยู่ของข้อมูล และสิ่งที่แสดงให้เห็น

  1. ตัวข้อมูล ต้องตรงตามข้อมูลจริงที่ต้องการ เช่น เครื่องหมายวรรคหรือเครื่องหมายอื่นนำด้านหน้า ด้านหลัง หรือแทรกภายใน การสะกดคำ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษในบางครั้งอักษรตัวเล็กตัวใหญ่อาจเป็นสาระสำคัญ หรือในบางกรณีใช้สีตัวอักษรเพื่อบอกคุณลักษณะ
  2. การปล่อยให้เซลล์ว่างไว้ให้ใช้กับข้อมูลที่ยังไม่เคยมี แต่ถ้าเคยมีมาก่อนแล้วแต่ตอนนี้ยังหาค่าไม่พบ ให้บันทึกคำว่า n.a. หรือสร้างสูตร =NA() ลงไปแทน แต่ถ้ามีค่าเท่ากับ 0 จึงบันทึกค่า 0 ลงไป ทั้งหมดนี้ให้บันทึกตามความเป็นจริง (อย่างไรก็ตามเมื่อนำตารางที่เป็นช่องว่างไปใช้กับคำสั่ง Pivot Table จะพบว่า Excel เลือกสร้างตารางคำตอบแบบนับรายการให้เสมอ ถ้าอยากจะหายอดรวมต้องใส่ตัวเลข 0 แทนทุกเซลล์ที่เป็นช่องว่าง ซึ่งประเด็นนี้ยังถกเถียงกันว่าไมโครซอฟท์ทำถูกหลักการหรือไม่ ผู้ใช้ Pivot table จึงควรเก็บสำเนาตารางข้อมูลเดิมที่เป็นช่องว่างไว้ด้วย)
  3. ตัวเลขต้องมีสถานะของข้อมูลที่เป็นเลข ตัวอักษรต้องมีสถานะของข้อมูลที่เป็นตัวอักษร โดยสังเกตได้ง่ายจากการเลิกกำหนดให้ค่าในเซลล์จัดชิดซ้ายขวาหรือกลาง จะพบว่าค่าที่ชิดซ้ายของมันเองย่อมมีสถานะที่เป็นตัวอักษร และค่าชิดขวาของมันเองย่อมมีสถานะที่เป็นตัวเลข อย่านำตัวเลขไปบันทึกปนกับตัวอักษร
  4. ลำดับรายการในตารางฐานข้อมูลต้องเรียงลำดับตามเงื่อนไขที่ใช้เดิมเสมอ เช่น บันทึกเรียงตามลำดับของรหัสสินค้า รหัสลูกค้า วันที่ หรือเลขที่รายการ ต้องคงลำดับเดิมไว้เสมอ หากต้องการสั่ง Sort เพื่อจัดเรียงตามเงื่อนไขอื่นต้องมีตัวเลขเรียงกำกับรายการเพื่อจัดเรียงกลับมาตามลำดับเดิมได้ด้วย หรือใช้วิธี copy ตารางใหม่ไปจัดเรียงโดยยังคงเก็บตารางตามลำดับเดิมไว้ (ทั้งนี้ไม่ควร Sort ตารางที่นำข้อมูลลิงค์ไปใช้คำนวณต่อในตารางอื่น และห้ามใช้วิธี Insert แทรกรายการใหม่อย่างเด็ดขาด)
  5. การแก้ไขข้อมูลให้ทำได้กับข้อมูลรายการใดที่บันทึกไว้แล้วไม่ถูกต้อง โดยต้องมีหมายเหตุบันทึกวันที่และสาเหตุของการแก้ไขกำกับรายการไว้ด้วย ส่วนรายการใดเลิกใช้ ห้ามสั่ง Delete รายการหรือซ่อนรายการนั้น แต่ให้บันทึกเพิ่ม column เป็นหมายเหตุกำกับรายการ
  6. ห้ามกำหนด Format ให้กับตารางฐานข้อมูลหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากรูปแบบโดยเฉพาะ Format Number สามารถทำให้เห็นข้อมูลต่างจากความเป็นจริง หรือใช้สีเพื่อซ่อนไม่ให้เห็นค่า ทำให้ความจริงกลายเป็นเท็จ หรือทำให้ความเท็จกลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้