ตารางคำนวณแบบ Single Module ในภาคนี้เป็นตารางคำนวณในกรณีที่แยกชีทหรือแยกแฟ้ม เพื่อใช้กับงานที่มีการคำนวณสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม แทนที่จะมีตารางคำนวณเพียงตารางเดียวแล้วใช้ข้อมูลตัวแปรส่งค่าใหม่ไปคำนวณในตารางนั้นๆในชีทเดียวกัน คราวนี้ผมจะนำเสนอวิธีการสร้างตารางคำนวณพร้อมกันในหลายชีทหรือหลายแฟ้ม จากนั้นจึงเลือกนำผลการคำนวณจากชีทหรือแฟ้มที่ต้องการไปนำเสนอผลงานต่อไป
ผู้ใช้ Excel ต้องคิดไว้เสมอว่า แม้วันนี้ข้อมูลที่เก็บไว้ยังคงมีไม่มากและสามารถใช้ชีทเดียวเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ด้วยกัน แต่ในอนาคตข้อมูลที่ต้องเก็บไว้จะต้องมีปริมาณของข้อมูลมากขึ้นไปเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยเก็บไว้ในชีทเดียว จะกลายเป็นต้องเก็บไว้ในชีทหลายชีท และในที่สุดเมื่อแฟ้มมีขนาดใหญ่มากแล้วใช้เวลาคำนวณช้าลง ก็ต้องหาทางโยกย้ายข้อมูลแยกออกไปเก็บไว้ในแฟ้มใหม่ในที่สุด พฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นวิวัฒนาการของการใช้ Excel ที่เราทุกคนหลีกหนีไปไม่พ้น
ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างตารางคำนวณที่ดี จึงต้องหาทางออกแบบตารางตั้งแต่แรกให้ใช้พื้นที่ตารางแยกเป็นส่วนๆ เพื่อสามารถโยกย้ายตารางจากเดิมที่เก็บอยู่ในชีทเดียว ไปแยกเก็บในชีทใหม่หรือแฟ้มใหม่ได้ทันทีที่ต้องการ
หมายเหตุ บทความในภาคนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องกับเรื่องเดิมที่ได้เขียนอธิบายไปก่อนแล้ว จึงขอแนะนำให้ผู้อ่านเริ่มต้นศึกษาจากบทความภาคแรกเป็นลำดับไปจาก อ่านภาคแรก หรือนิตยสาร EWorld ฉบับเดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมา
(Download ตัวอย่างได้จาก www.ExcelExpertTraining.com/extreme/files/database/singlemodule.xls)
ตัวอย่างนี้ดัดแปลงมาจากตัวอย่างที่ใช้ในการอบรมหลักสูตรสุดยอดเคล็ดลับและลัดของ Excel จากเดิมซึ่งรวมตัวแปรของงบการเงินทั้งสาม case ไว้ติดกันในตารางเดียวกันในชีทเดียวกัน เปลี่ยนมาเป็นการแยกตัวแปรของแต่ละ case ไว้ในชีทต่างหากของมันเอง
โปรดสังเกตว่านอกเหนือจากตำแหน่งของตารางในชีท Case1, Case2, และ Case3 ต้องใช้ตำแหน่งเซลล์ตรงกันทั้งสามชีทคือใช้เซลล์ F3:F6 เก็บตัวเลขของยอดขายและต้นทุนแล้ว การตั้งชื่อชีทให้มีคำนำหน้าว่า Case เหมือนกันแล้วตามด้วยตัวเลข 1, 2, หรือ 3 ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สูตรที่ใช้ดึงข้อมูลจากชีทที่ต้องการสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย ดังรูปต่อไปนี้ซึ่งเป็นชีทชื่อ SheetModule เป็นตารางคำนวณที่เลือกดึงข้อมูลจากชีทชื่อที่ต้องการมาคำนวณ
โปรดติดตามการออกแบบตารางคำนวณแบบ Compound Module ในบทความภาคต่อไป