เคยมีคำกล่าวว่า Excel ไม่สามารถนำมาใช้กับการวางแผนความต้องการวัสดุได้หรอก เราต้องหันไปซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปราคาแพงเป็นแสนเป็นล้านบาทมาใช้ในการวางแผนการผลิต ซึ่งโรงงานผลิตสินค้าหลายๆแห่งอาจคิดว่าไม่แพง เพราะเมื่อนำราคาโปรแกรมสำเร็จรูปไปเทียบกับมูลค่าของโรงงานและสินค้าที่ผลิตแล้วถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แล้วเมื่อนำโปรแกรมสำเร็จรูปเหล่านี้มาใช้ กลับพบว่าไม่สามารถนำมาใช้กับการวางแผนการผลิตได้อย่างสมบูรณ์เสียอีก ครั้นจะขอให้ผู้ขายโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยแก้ไขดัดแปลงโปรแกรมให้ใหม่ก็ถูกคิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินอีกมากมาย ที่แย่ที่สุดก็คือ พอซื้อโปรแกรมมาใช้ได้สักพัก เจ้าตัวบริษัทที่ขายโปรแกรมให้กลับปิดตัวเลิกกิจการไปแล้ว เป็นเหตุให้โปรแกรมสำเร็จรูปที่ได้มาถูกนำมาใช้งานแค่ครึ่งๆกลางๆหรือถึงกับเลิกใช้ไปเลยก็มี
คนที่เก่งคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์หรือผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวง IT มักเข้าใจว่าปัญหาการคำนวณยากๆ ต้องหาทางเขียนโปรแกรมหรือหาซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหายากๆเหล่านั้นโดยเฉพาะ แม้แต่คนที่เก่ง Excel ก็ตาม มักชอบคิดว่าต้องใช้โปรแกรม VBA (Visual Basic for Applications) เป็นทางออกสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้สูตรหรือคำสั่งบนเมนูของ Excel ช่วยในการแก้ปัญหาที่ว่ายากนั้นได้ ซึ่งถ้าว่าไปแล้วก็ไม่ใช่การคิดที่ไม่มีเหตุผล เพราะปัญหาการคำนวณยากๆ ยกตัวอย่างเช่นการวางแผนการผลิต มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน เช่น เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับยอดสินค้าคงเหลือต้นงวดปลายงวด ยอดวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้อซึ่งยังสัมพันธ์กับโครงสร้างผลิตภัณฑ์หรืออัตราส่วนผสม หากวัตถุดิบขาดมือก็ต้องสั่งซื้อมาสำรองไว้ให้เพียงพอซึ่งเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการขายของผู้ขายเข้าไปอีก และทั้งหมดนี้ยังต้องหาทางกำหนดเวลาที่จะต้องสั่งผลิตเพื่อให้ได้จำนวนสินค้าตามต้องการ ณ กำหนดเวลาที่ต้องการ .... แค่เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็แทบไม่อยากจะคิดด้วยสมองแล้วใช่ไหม หลายต่อหลายคนจึงพากันตอบว่า หันไปซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้กันดีกว่า
จากประสบการณ์ที่ผมคลุกคลีอยู่กับ Excel มานานกว่ายี่สิบปีพบว่า คนที่เก่ง Excel มากๆมักขาดความรู้เรื่องการวางแผนการผลิต ส่วนคนที่เก่งในการวางแผนการผลิตก็มักจะไม่เก่ง Excel จึงทำให้ไม่มีใครที่สามารถนำความรู้ทั้ง Excel และการวางแผนการผลิตมาใช้งานร่วมกันเสียที ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้กรุณาให้ผมเข้าอบรมหลักสูตรการวางแผนการผลิตที่สมาคมจัดขึ้น ทำให้เกิดแนวทางใช้ Excel โดยออกแบบตารางคำนวณแบบ Compound Module นี้ขึ้นมา จึงใคร่ขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคงไม่เป็นการกล่าวที่เกินไปว่า ในโลกนี้มีแต่ประเทศไทยของเราเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีการออกแบบตารางคำนวณแบบ Compound Module หรือหากประเทศอื่นทำได้ก็น่าจะเรียนรู้มาจากเราอีกต่อหนึ่ง
ลักษณะโครงสร้างตารางคำนวณแบบ Compound Module
โครงสร้างตารางคำนวณแบบ Compound Module เกิดจากแนวความคิดที่จะใช้ตาราง Excel หลายๆเซลล์ต่อกันสำหรับการคำนวณที่ต่อเนื่องกันหลายๆขั้น พอเซลล์หนึ่งคำนวณขั้นหนึ่งเสร็จ ก็ให้ส่งค่าไปคำนวณต่อในอีกเซลล์หนึ่ง แล้วส่งค่าต่อๆกันไปยังเซลล์ที่อยู่ในพื้นที่ตารางคำนวณชุดเดียวกัน ซึ่งในตารางคำนวณชุดเดียวกันนี้อาจต้องใช้จำนวนเซลล์ตั้งแต่ 2 เซลล์ขึ้นไปจนถึงนับร้อยนับพันเซลล์ก็เป็นได้เพื่อให้ไล่คำนวณตั้งแต่ต้นจนจบ
แนวความคิดดังกล่าวนี้ฟังดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกใช่ไหม คุณเองก็ใช้ตาราง Excel ในแบบที่กล่าวนี้เป็นกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแทนที่จะใช้ตารางคำนวณเพียงชุดเดียวเพื่อคำนวณให้ผลลัพธ์ที่ต้องการแล้วเสร็จ เรายังต้องหาทางใช้ตารางคำนวณชุดถัดไป ที่มีหน้าตาตารางเหมือนกับตารางคำนวณชุดแรก เพื่อใช้ในการคำนวณซ้ำแบบเดียวกับการคำนวณในตารางคำนวณชุดแรกซ้ำต่อไปอีกให้ได้ โดยหาทางสร้างสูตรในตารางคำนวณชุดถัดไปให้สามารถรับค่าจากตารางคำนวณชุดก่อน (Simple Compound Module) ห��ือเลือกรับค่าตารางคำนวณชุดใดๆก็ได้มาใช้คำนวณซ้ำอีก (Dynamic Compound Module)
องค์ประกอบสำคัญที่เป็นส่วนช่วยให้เราสามารถสร้างตารางคำนวณขึ้นเพียงชุดเดียว จากนั้นสามารถสั่ง Copy แล้วนำไป Paste ให้เกิดตารางคำนวณชุดต่อไปซึ่งมีสูตรซ้ำกับตารางคำนวณชุดแรกทุกเซลล์ก็คือ ขอให้หลีกเลี่ยงการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงใดๆในสูตรแบบ Absolute (เช่น $A$1) แต่ให้ใช้การกำหนดตำแหน่งอ้างอิงแบบ Relative (เช่น A1) แทน หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้ใช้ตำแหน่งอ้างอิงแบบ Mixed ในแบบควบคุมตำแหน่ง Column ให้คงที่ (เช่น $A1) โดยให้ใช้ให้น้อยที่สุด เพราะถ้ากำหนดตำแหน่งอ้างอิง $A1 ไว้ จะต้อง Paste ตารางคำนวณชุดถัดไปในแนว Column เดิมเสมอ มิฉะนั้นการอ้างอิงจะผิดเพี้ยนจากตำแหน่งที่ต้องการ
ผู้ที่คุ้นเคยกับการสร้างตารางคำนวณต้องทราบถึงประโยชน์ของการใส่เครื่องหมาย $ เพื่อช่วยควบคุมตำแหน่งอ้างอิงในสูตรว่ามีความสำคัญเพียงใด แม้เครื่องหมาย $ จะช่วยให้เราสร้างสูตรแล้ว Copy ไปใช้ที่เซลล์อื่นได้ทันที แต่ในโครงสร้างตารางคำนวณแบบ Compound Module นี้ เครื่องหมาย $ กลับเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นแม้ในระหว่างการสร้าง Module แรกขึ้นมาใช้งาน ซึ่งเราจำเป็นต้องอาศัยเครื่องหมาย $ แต่เมื่อสร้างงานเสร็จแล้วก็ต้องลบเฉพาะเครื่องหมาย $ ที่ใช้ในเซลล์ทิ้งไป โดยใน Excel 2007 ใช้คำสั่ง Home > Find & Select > Replace หรือใน Excel 2003 ใช้คำสั่ง Edit > Replace เพื่อสั่งเปลี่ยนเครื่องหมาย $ ให้หายไป
ตัวอย่างตารางคำนวณ Compound Module อย่างง่าย
Download ตัวอย่างได้จาก www.ExcelExpertTraining.com/extreme/files/database/CompoundModule.xls
ตัวอย่างนี้อยู่ในชีทชื่อ SimpleCompound เป็นตารางคำนวณหาระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต กำหนดให้ผลิตสินค้า A, B, C, D (ProductName เซลล์ B4:B7) โดยสินค้าแต่ละชนิดต้องใช้เวลาในการผลิตต่างกันไป เช่น ในการผลิตสินค้า A เมื่อผ่านขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน (เซลล์ C4:F4) ต้องใช้เวลา 20 นาทีในการผลิตขั้นตอนที่ 1 จากนั้นต้องใช้เวลา 10 นาที ตามด้วย 30 นาที และตามด้วย 20 นาที ในขั้นตอนที่ 2, 3, 4 ตามลำดับจึงจะแล้วเสร็จ
ในกระบวนการผลิตสินค้า A, B, C, และ D นี้ หากกำหนดให้เริ่มต้นผลิตในเวลา 8 นาฬิกา จะผลิตเสร็จในเวลาใด ทั้งนี้กำหนดให้เลือกผลิตสินค้า A, D, C, B ก่อนหลังตามลำดับ (หรือในอนาคตอาจจัดลำดับการผลิตก่อนหลังต่างไปก็ได้) โดยหาทางให้ใช้ระยะเวลาผลิตที่น้อยที่สุด เมื่อผลิตสินค้าใดเสร็จให้ผลิตสินค้าชนิดต่อไปได้ทันที
ตารางด้านขวาที่เซลล์ L4:L6 ของรูปข้างต้นเป็นคำตอบที่ได้จากการคำนวณ กล่าวคือ เมื่อเริ่มผลิตในเวลา 8 นาฬิกา จะผลิตสินค้าทั้งหมดเสร็จในเวลา 11 นาฬิกา ถือเป็นระยะเวลาผลิตทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง
ปัญหาที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดขั้นตอนการผลิตในตัวอย่างนี้ก็คือ เราต้องหาทางสร้างตารางคำนวณที่สามารถจัดลำดับการผลิตก่อนหลังแบบใดก็ได้ อีกทั้งต้องหาทางสร้างสูตรให้กำหนดเวลาเริ่มผลิตในแต่ละขั้นตอนของสินค้าแต่ละตัว ต่อเนื่องกับเวลาผลิตเสร็จในขั้นตอนก่อนหน้า หรืออีกนัยหนึ่งห้ามสั่งผลิตสินค้าชนิดถัดไป หากสินค้าชนิดแรกยังอยู่ในกระบวนการผลิตขั้นตอนนั้นๆ ดังรูปต่อไปนี้
ขอให้พิจารณาภาพ Gantt Chart ในลำดับการผลิตของ Process 2 จะพบว่าเมื่อสินค้า A ผลิตเสร็จในเวลา 8:30 นาฬิกา แต่ยังไม่สามารถนำสินค้า D มาผลิตต่อใน Process 2 ได้ทันที เพราะในขณะนั้นสินค้า D ยังอยู่ในกระบวนการผลิตของ Process 1 อยู่ ต้องรอจนถึงเวลา 8:40 นาฬิกา จึงเริ่มผลิตสินค้า D ใน Process 2 ต่อไปได้ แล้วต่อเมื่อสินค้า D ผลิตเสร็จใน Process 2 ก็สามารถนำสินค้า C และ B มาผลิตต่อใน Process 2 ได้ต่อเนื่องทันที
Compound Module ในตัวอย่างนี้คือพื้นที่ตารางตั้งแต่เซลล์ B12:Z15 โดยกำหนดให้ใช้เซลล์ B12 ตรงหัวมุมซ้ายบนสุดสำหรับบันทึกชื่อสินค้าที่ต้องการลงไป จากนั้นเซลล์ C13:F13 จะดึงระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต (Time Consumed) จากตาราง Time Consumed Table ด้านบนของชีทลงมาใช้งาน โดยใช้สูตร =VLOOKUP($B12,TimeConsumedTbl,C12+1,0) จากนั้นเมื่อนำเวลาเริ่มผลิต 8:00 ในเซลล์ C10 มาบวกเพิ่มด้วยระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต ทำให้คำนวณหา Start Time และ Stop Time ในพื้นที่เซลล์ C14:F15
เซลล์สำคัญที่สุดที่ทำให้ Compound Module สามารถนำไปใช้งานต่อไปได้ในตารางชุดอื่นคือ เซลล์ D14 มีสูตร =MAX(D10,C15) โดยขอให้สังเกตว่าตำแหน่งเซลล์ D10 ที่กำหนดไว้ในสูตร MAX นี้เป็นตำแหน่งเซลล์ที่อยู่เหนือขอบเขตของตาราง Module (B12:Z15) เพื่อให้ใช้ตำแหน่งเซลล์ D10 ซึ่งไม่ได้กำหนดเครื่องหมาย $ ไว้หรืออีกนัยหนึ่งคือเซลล์ที่อยู่เหนือพื้นที่ตาราง Module ขึ้นไปอีก 2 เซลล์ สำหรับนำเวลา Stop Time ของ Module ก่อนหน้ามาเทียบกับเวลา Stop Time ของ Module ตัวเอง (D10 vs C15) ว่าให้เลือกนำเวลาที่มากที่สุดมาใช้เป็นกำหนดการเริ่มกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อไป
หลังจากสร้าง Module แรกในเซลล์ B12:Z15 เสร็จแล้ว เมื่อต้องการคำนวณหากำหนดการผลิตของสินค้าในลำดับถัดไป ก็เพียงแค่ Copy เซลล์ B12:Z15 ไป Paste ต่อกันลงไปแล้วเปลี่ยนชื่อสินค้าที่เซลล์หัวมุมซ้ายของแต่ละ Module ตามชื่อสินค้าที่ผลิตในแต่ละลำดับ ก็จะพบว่า Module ทุกชุดคำนวณร่วมกันได้ระยะเวลาและกำหนดการผลิตแต่ละขั้นตอนตามต้องการในทันที
โปรดสังเกตว่า แต่ละ Module ถูกวางห่างกันโดยเว้นระยะ 1 row ระหว่างกันเสมอ ทั้งนี้เพื่อทำให้สูตร =MAX(D10,C15) จาก Module แรกเป็นสูตรดึงค่าจาก Stop Time ซึ่งเป็น row ล่างสุดของ Module ด้านบนมาใช้ต่อไปนั่นเอง
ตัวอย่างตารางคำนวณ Compound Module แบบ Dynamic
ตัวอย่างที่ผ่านมาเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิงที่เชื่อมค่าจาก Module ที่วางไว้ด้านบนติดกัน เหมาะกับการคำนวณที่มีขั้นตอนต่อเนื่องกันไปแบบเส้นตรง แต่หากการวางแผนการผลิตเกี่ยวข้องกั���โครงสร้างผลิตภัณฑ์ (Bill of Materials : BOM) ในโครงสร้างที่ซับซ้อนตามภาพต่อไปนี้ ก็ต้องหาทางพัฒนาโครงสร้างตารางคำนวณแบบ Dynamic
จากภาพแสดงถึงการผลิตสินค้า A ซึ่งหากผลิตเพียง 1 หน่วย ( Unit = 1 ) ต้องอาศัยวัสดุ B จำนวน 2 หน่วยและ C จำนวน 3 หน่วย โดยในการผลิตวัสดุ B ต้องใช้วัสดุ D จำนวน 2 หน่วยและวัสดุ E จำนวน 2 หน่วย ส่วนวัสดุ C ต้องใช้วัสดุ E จำนวน 2 หน่วยและวัสดุ F จำนวน 2 หน่วย ซึ่งในการผลิตวัสดุ F เองก็ต้องอาศัยวัสดุ G จำนวน 1 หน่วยและวัสดุ D จำนวน 2 หน่วย
ส่วนคำว่า LT ย่อมาจากคำว่า Lead Time หมายถึงช่วงเวลานำ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตหรือระยะเวลาที่ต้องรอคอยในการได้มาของสินค้า จากภาพแสดงว่าสินค้า A ต้องใช้ระยะเวลาผลิต 1 วัน (หรือหน่วยของระยะเวลาอื่นๆก็ได้ ในตัวอย่างนี้ขอใช้ระยะเวลาเป็นหน่วยวัน) วัสดุ B, C, D, E, F, G ต้องใช้ระยะเวลาผลิตหรือระยะเวลารอคอยเท่ากับ 2 วัน, 1 วัน, 1 วัน, 2 วันและ 3 วัน ตามลำดับ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ ระบบการวางแผนและควบคุมการผลิต โดยรศ.พิภพ ลลิตาภรณ์ สำนักพิมพ์ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น))
ในการออกแบบตารางคำนวณเพื่อวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirements Planning - MRP) ต้องหาทางสร้างตารางคำนวณที่สามารถคำนวณตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เดิมสินค้า A มีวัสดุ B และ C เป็นโครงสร้างในการผลิต หากในภายหลังมีวัสดุ G เพิ่มเติม หรือเลิกใช้วัสดุ B หรือใช้วัสดุอื่นมาแทนที่ และหากตัวเลขจำนวนการใช้วัสดุและ LT เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ต้องหาทางประยุกต์ใช้ Excel กับงาน MRP ได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขสูตรคำนวณใหม่แม้แต่น้อย
อนึ่งในแง่ของโครงสร้างผลิตภัณฑ์ยังมีศัพท์คำว่า Parent กับ Child ที่ต้องทำความเข้าใจเพราะเป็นหลักการสำคัญที่นำไปใช้ในการสร้างตารางคำนวณ เช่น หากกำหนดให้สินค้า A เป็น Parent ก็จะพบว่ามีวัสดุ B และ C เป็น Child แล้วหากกำหนดให้วัสดุ B เป็น Parent ก็จะพบว่ามีวัสดุ D และ E เป็น Child ซึ่งจะเห็นว่าการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเป็น Parent-Child เป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตสินค้าหรือวัสดุในลำดับหนึ่งนั่นเอง
ตัวอย่างต่อไปนี้มาจากชีทชื่อ DynamicCompound ในแฟ้มชื่อ CompoundModule.xls
โครงสร้างตารางคำนวณแบบ Compound Module คือ พื้นที่ตารางตั้งแต่เซลล์ B6:P7 มีเซลล์ที่ใช้รับค่าตัวแปรใน Column B, C, E, และ F โดยใช้เซลล์ B6 สำหรับบันทึกชื่อ Item ในระดับ Child และใช้เซลล์ C6 บันทึกชื่อ Parent โดยใช้เซลล์ E6 และ F6 บันทึกตัวเลขสัดส่วนการผลิตและ Lead Time ตามลำดับ
วิธีการนำ Module ไปใช้งาน ให้เริ่มจาก Copy Module จากเซลล์ B6:P7 ไป Paste ต่อๆกันไปให้ครบตามจำนวนความสัมพันธ์ระหว่าง Child->Parent ที่มีอยู่ (B->A, C->A, D->B, E->B, E->C, F->C, G->F, D->F) จากนั้นให้บันทึกค่าใหม่ลงไปในเซลล์รับตัวแปรใน Column B, C, E, และ F ของแต่ละ Module ให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างผลิตภัณฑ์ จะพบว่าพื้นที่ตารางใน Column H:P จะคำนวณจำนวนวัสดุที่ต้องการและกำหนดเวลาที่ต้องเริ่มสั่งผลิตเพื่อให้ได้สินค้าหรือวัสดุเสร็จตามกำหนดให้ทันที
หลักการคำนวณที่ใช้ เกิดจากการหาตำแหน่งเลขที่ row สุดท้ายของแต่ละ Module (Last Row of Module) ใน Column D ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงใช้เลขเลขที่ row สุดท้ายของแต่ละ Module สำหรับดึงตัวเลขการสั่งผลิตจาก Module ของ Parent ไปใช้ในการสั่งผลิตของ Module ที่เป็น Child
เพื่อทำให้เห็นลำดับการคำนวณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอให้ดู Row 14 ซึ่งเป็นการสั่งผลิตวัสดุ E ให้กับวัสดุ C พอคุณบันทึกชื่อวัสดุ C ลงไปในเซลล์ C14 จะพบว่าในเซลล์ D14 คำนวณหาเลข 9 มาให้ ซึ่งเกิดจากสูตร =MATCH(C14,B$1:B$1001,0)+1 โดยสูตร Match จะนำชื่อ Parent C ไปเทียบหาตำแหน่งจากพื้นที่ B1:B1001 พบว่าชื่อ C อยู่ในลำดับที่ 8 จากนั้นนำไปบวก 1 ให้กลายเป็นเลขที่ Row 9 ซึ่งเป็นตำแหน่งเลขที่ row สุดท้ายของ Module (Last Row of Module) ที่มี Child ชื่อ C
พอได้เลข 9 ในเซลล์ D14 แล้ว จากนั้นจึงใช้สูตรดึงตัวเลข 150 จากเซลล์ N9 ส่งต่อมาใช้ที่เซลล์ N14 โดยใช้สูตร =INDIRECT(ADDRESS($D14,COLUMN()))*$E14 โดยในการผลิตวัสดุ C จำนวน 1 หน่วย ต้องอาศัยวัสดุ E จำนวน 2 หน่วย (เซลล์ E14 = 2) จึงต้องสั่งผลิต E จำนวน 300 หน่วย (=150x2) ส่วนวัสดุ E นั้นกว่าจะผลิตเสร็จก็ต้องใช้ระยะเวลา (LT) 2 วัน ทำให้ต้องสั่งผลิตหรือจัดหาวัสดุ E ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 5 จึงจะพร้อมต่อการนำไปใช้ผลิตต่อในวันที่ 7
ส่วนของสูตร =INDIRECT(ADDRESS($D14,COLUMN())) ในเซลล์ N14 ช่วยดึงค่ามาจากเซลล์ที่ทราบตำแหน่ง Row และ Column โดยที่ D14 เป็นเลขที่ Row ส่วนสูตร Column() จะหาเลขที่ Column N ณ ตำแหน่งของเซลล์สูตร จึงทำให้เกิดสูตร Address(9,14) คืนค่าออกมาเป็นตำแหน่งเซลล์ $N$9 จากนั้นสูตร Indirect("$N$9") จึงดึงค่าจากเซลล์ N9 มาให้ในที่สุด
ตัวอย่างจากชีทชื่อ DynamicCompound นี้เป็นการคำนวณอย่างง่ายเพื่อแสดงหัวใจของการเชื่อมโยงตัวเลขการสั่งผลิต ณ กำหนดเวลาที่ต้องการของแต่ละ Module เข้าด้วยกัน แต่ในการผลิตจริงยังต้องคำนึงถึงตัวเลขสินค้าต้นงวดปลายงวดและตัวเลขอีกมากมายที่เป็นเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการผลิตแต่ละครั้ง จึงขอให้ใช้ Module ที่สร้างไว้ในชีทชื่อ MRPModule แทน
วิธีนำ Module ไปใช้ก็ใช้วิธี Copy ไป Paste ซ้ำตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกัน โดยโครงสร้างตารางคำนวณที่สร้างขึ้นแบบสมบูรณ์นี้ Child แต่ละตัว สามารถสั่งผลิตเป็นวัสดุให้ Parent ได้ 3 ตัว (เซลล์ D20:D22) ทำให้ไม่จำเป็นต้องเตรียม Module ของ Child ซ้ำกันเช่นตัวอย่างที่ผ่านมา
จากนั้นเมื่อนำตัวอย่างการทำ MRP จากหนังสือ ระบบการวางแผนและควบคุมการผลิต โดยรศ.พิภพ ลลิตาภรณ์ สำนักพิมพ์ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หน้า 136 มาวางแผนความต้องการวัสดุ จะเกิดเป็น Compound Module ที่คำนวณร่วมกันตามตัวอย่างที่เปิดให้ Download ได้จาก www.ExcelExpertTraining.com/extreme/files/database/CompoundModuleMRP(Ans).xls ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใช้ประกอบการอบรมหลักสูตรการประยุกต์ใช้ Excel สำหรับวางแผนความต้องการวัสดุและจัดตารางการผลิต ที่จัดอบรมขึ้น ณ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
ตัวอย่างในแฟ้ม CompoundModuleMRP(Ans).xls นอกเหนือจากแสดงการใช้ Compound Module แบบซับซ้อนโดยนำโครงสร้างผลิตภัณฑ์ 2 โครงสร้างมาใช้ร่วมกันแล้ว ยังแสดงวิธีการสร้างตารางฐานข้อมูลเพื่อเก็บค่าตัวแปร แล้วใช้สูตรดึงค่าจากตารางตัวแปรไปยังเซลล์รับค่าใน Module ให้เองอีกด้วยเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกรอกข้อมูลและลดโอกาสผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิดช่อง จากนั้นเมื่อได้ผลลัพธ์ที่คำนวณใน Compound Module เสร็จเรียบร้อยก็ยังแสดงวิธีใช้สูตรดึงผลลัพธ์ไปสรุปเพื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการผลิตที่เกิดขึ้นจริงที่อาจแตกต่างจากแผนการผลิตที่วางไว้
บทส่งท้าย
การออกแบบตารางคำนวณที่นำมาอธิบายนี้ น่าจะเป็นการจุดประกายความคิดให้ผู้ใช้ Excel สามารถสร้างสรรค์งานได้หลายหลายรูปแบบมากขึ้น ผมเชื่อว่าหลักการหรือแนวความคิดที่ได้ให้ไปแล้วนี้ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวอย่างที่มีประโยชน์จำกัดแค่ใช้กับการแก้ไขปัญหาหนึ่งเสร็จแล้วก็แล้วกันไป ขอเพียงสามารถนำหลักการหรือแนวความคิดไปพัฒนาต่อ ย่อมเป็นแนวทางให้สามารถใช้ Excel แบบคอมพิวเตอร์ สามารถนำ Excel ไปประยุกต์ใช้กับงานที่หลายคนคิดว่าทำไม่ได้มาก่อน หาทางสร้างตารางคำนวณที่สะดวกต่อการนำมาใช้งานซ้ำแล้วซ้ำอีก ง่ายต่อการแก้ไข และที่สำคัญคือเป็นหลักการที่ง่ายต่อความเข้าใจ
อ่านตามลำดับ
Part 1 - http://social.technet.microsoft.com/wiki/contents/articles/3603.aspx Part 2 - http://social.technet.microsoft.com/wiki/contents/articles/3605.aspx Part 3 - http://social.technet.microsoft.com/wiki/contents/articles/3606.aspx Part 4 - http://social.technet.microsoft.com/wiki/contents/articles/3607.aspx